หัวข้อสำคัญ

บทความที่น่าสนใจ

การสื่อสารข้อมูล

การสื่อสารข้อมูล ถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ มนุษย์มีวิวัฒนาการยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาอย่างต่อเนื่อง ในการคิดค้นและพัฒนาวิธีการสื่อสารข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รูปแบบของการสื่อสารข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยก็ต้องใช้การสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่เราควรเรียนรู้

การสื่อสารข้อมูล (Data Communications) คือกระบวนการรูปแบบหนึ่งในการถ่ายโอนหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างผู้ส่งและผู้รับ (Transmission) หรือ เรียกว่าต้นทางกับปลายทางก็ได้ ผ่านช่องทางสื่อสาร เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือคอมพิวเตอร์เป็นตัวกลางในการส่งข้อมูล ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ส่งและผู้รับเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันผ่านการสื่อสารทางช่องทางนั้น ๆ

ภาพแสดงการสื่อสารข้อมูลทางเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากทั่วโลก
ที่มา https://pixabay.com, sumanley

การสื่อสารข้อมูล เป็นการถ่ายทอดเนื้อหา ซึ่งอาจเป็น คำพูด เสียง ข้อความ ที่แสดงถึงความรู้ ความคิด ความรู้สึกจากผู้ส่งไปยังผู้รับ โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เป็นช่องทางในการสื่อสาร ทั้งนี้การสื่อสารก็มีวิวัฒนาการเหมือนสิ่งอื่น ๆ เช่นกัน วิวัฒนาการเริ่มต้นจากการสื่อสารด้วยท่าทาง ถ้อยคำ สัญลักษณ์ ภาพวาด จดหมาย โทรเลข เป็นต้น จากนั้นเมื่อคอมพิวเตอร์ในยุคแรก ๆ เกิดขึ้นก็ทำให้มีการประมวลผลในรูปแบบผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ทำให้การติดต่อสื่อสารเกิดความสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งได้รับข่าวสารทันเหตุการณ์อีกด้วย

การสื่อสารผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในยุคแรก ๆ จะพัฒนามาเป็นช่วง ๆ เริ่มตั้งแต่การนำส่งข้อมูลสำหรับการประมวลผลโดยคน การประมวลผลจึงเป็นแบบกลุ่ม (Batch) ต่อมาก็เริ่มใช้วงจรของโทรศัพท์ ส่งข้อมูลในระยะไกล ซึ่งเป็นการประมวลเป็นแบบกลุ่มออนไลน์ (On-Line Batch) พัฒนามาเป็นการส่งแบบสั่งงานและรอผลลัพธ์เพียงชั่วครู่หรือแบบเรียลไทม์ (Real Time) และพัฒนา ต่อมาถึงที่เชื่อมต่อกับการใช้ระบบฐานข้อมูลแบบกระจาย (Distributed Database)

ประโยชน์ของ การสื่อสารข้อมูล

  1. การสื่อสารข้อมูล การสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลได้ง่ายและสื่อสารได้รวดเร็ว ทำให้การค้นหาข้อมูลหรือเชื่อมต่อข้อมูลเป็นไปได้ง่ายถึงแม้ว่าต้นทางกับปลายทางจะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม ทำให้สะดวกต่อผู้ใช้งานข้อมูลนั้น ๆ เช่น เช่น บริษัทจองตั๋วรถทัวร์ทุกแห่งสามารถทราบข้อมูลของทุกเที่ยวโดยสารได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การจองที่นั่งของผู้โดยสารสามารถทำได้ทันที
  2. ในขั้นตอนของการสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์นั้นวิธีการส่งข้อมูลนั้นมีการตรวจสอบสภาพของข้อมูล หากข้อมูลผิดพลาดก็จะมีการรับรู้ และพยายามหาวิธีแก้ไขให้ข้อมูลที่ได้รับมีความถูกต้อง โดยอาจให้ทำการส่งใหม่ ทำให้มีผลดีในเรื่องของความถูกต้องของข้อมูล
  3. การสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ช่วยลดต้นทุนด้านต่าง ๆ เนื่องจากการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้าหากันเป็นเครือข่าย เพื่อส่งหรือสำเนาข้อมูล ทำให้ราคาต้นทุนของการใช้ข้อมูลประหยัดขึ้น เมื่อเทียบกับการจัดส่งแบบวิธีอื่น สามารถส่งข้อมูลให้กันและกันผ่านทางระบบเครือข่ายได้
  4. ในด้านการบริหารจัดการการสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้การดำเนินการทางธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงสื่อสารกันได้ เช่น การดำเนินกิจการจากสำนักงานใหญ่ไปสาขาย่อยต่าง ๆ
  5. ในด้านธุรกิจการเงินการสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ช่วยทำในการทำงานหรืออัปเดตข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เช่น อัตราแลกเปลี่ยน และข้อมูลในตลาดหุ้นเป็นต้น
  6. การสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดสังคมให้การแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว เช่น การแลกเปลี่ยน การติดตามข่าว การนำเสนอข่าว ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

คุณสมบัติของการสื่อสารข้อมูลและเครือข่ายที่มีคุณภาพ

  1. การส่งข้อมูล (Delivery) จะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายความว่าข้อมูลหรือสาร ๆ ที่ส่งไปจากต้นทางจะต้องถึงผู้รับสารหรือปลายทางของข้อมูลอย่างถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ และข้อมูลจะต้องถึงผู้รับที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น
  2. ความถูกต้อง (Accuracy) ความถูกต้องของข้อมูลก็เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ส่งจะต้องให้ความสำคัญ โดยข้อมูลที่ส่งไปนั้นจะต้องมีความถูกต้องเหมือนกับข้อมูลต้นทางที่ส่งไป ทั้งนี้เพราะในช่วงการส่งข้อมูลนั้นมีการเปลี่ยนรูปแบบสัญญาณในลักษณะต่าง ๆ เช่น เปลี่ยนจากสัญญาณแอนะล็อกเป็นสัญญาณดิจิทัล ทั้งนี้ควรมีการเข้ารหัสเพื่อการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลซึ่งจำเป็นต้องมีการยืนยันความถูกต้องในการส่งข้อมูล เพื่อให้ผู้รับและผู้ส่งข้อมูลส่งและได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเหมือนกัน
  3. ความตรงต่อเวลา (Timeliness) เนื่องจากข้อมูลที่มีการรับส่งกันผ่านระบบเครือข่ายนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องส่งและรับได้ตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในการใช้ข้อมูล และจะต้องปราศจากการประวิงเวลาที่ผิดปกติ
  4. ความไม่สม่ำเสมอ (Jitter) คือ การเปลี่ยนแปลงเวลาในการส่งถ่ายข้อมูล คุณสมบัติในการส่งถ่ายข้อมูลที่ดีจะต้องมีความสม่ำเสมอของเวลาและจำนวนของข้อมูล เพื่อให้การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

องค์ประกอบพื้นฐานของการสื่อสารข้อมูล

องค์ประกอบขั้นพื้นฐานของการสื่อสารข้อมูลที่เหมาะสมและมีคุณภาพ สามารถจำแนกออกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญได้ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ส่งข่าวสารหรือข้อมูล (sender) ซึ่งเป็นต้นทางของข้อมูลอาจเป็นได้ทั้งบุคคล หรือจะเป็นอุปกรณ์ในการส่งข้อมูลก็ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ รีโมท ทั้งนี้ ผู้ส่งสารจะเป็นผู้ที่เตรียมข้อมูลและเป็นผู้ส่งข้อมูลหรือสารไปยังผู้รับ
  2. ข้อมูลหรือสาร (message) เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสาร สารหรือข้อมูลที่ส่งไปนั้นอาจเป็นข้อมูลหรือสารสนเทศในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ข้อมูลเหล่านั้นอาจเป็นสัญญาณต่าง ๆ เช่น ข้อมูลรูปภาพข้อมูลตัวเลข ข้อมูลเสียง ข้อมูลวิดิทัศน์ หรือสื่อประสมต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ในอดีตในการติดต่อสื่อสารสมัยก่อนอาจจะใช้แสงไฟ ควันไฟ หรือท่าทางต่าง ๆ ก็นับว่าเป็นแหล่งกำเนิดข่าวสาร จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้เช่นกัน
  3. ผู้รับข้อมูลหรือสาร (Receiver) ซึ่งเป็นจุดหมายปลายของสารที่ผู้ส่งสารส่งมาถึง ในทำนองเดียวกันผู้รับข้อมูลหรือสารไม่จำเป็นจะต้องเป็นมนุษย์เสมอไป อาจเป็นอุปกรณ์รับสัญญาณชนิดต่าง ๆ ก็ได้ เช่น เครื่องรับสัญญาณ เสารับสัญญาณ เป็นต้น ทั้งนี้ในระบบที่มีคุณภาพ การติดต่อสื่อสารจะบรรลุวัตถุประสงค์ ผู้รับจะได้รับข้อมูลหรือสารนั้น ๆได้ถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ ในทางตรงกันข้ามหาก ผู้รับไม่ได้รับข้อมูลหรือสารนั้นๆ หรือได้รับไม่ถูกต้องไม่ครบถ้วน ก็แสดงว่าการสื่อสารนั้นไม่ประสบความสำเร็จ กล่าวคือไม่มีการสื่อสารเกิดขึ้นนั่นเอง
  4. สื่อกลางในการส่งข้อมูลหรือสาร (Transmission Media) ในที่นี้อาจจะหมายถึงสื่อกลางหรือตัวกลางในการนำข้อมูลหรือสารจากผู้ส่งไปยังผู้รับได้อย่างถูกต้อง เช่น การสื่อสารของคนที่อาจกล่าวได้ว่า การสั่นสะเทือนของอากาศเป็นสื่อกลางในการสื่อสารของคน หรือแม้กระทั่ง ของเหลว เช่น น้ำ น้ำมัน เปรียบเสมือนเป็นสะพานที่จะให้ข่าวสารข้ามจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งนั่นเอง ส่วนในทางการสื่อสารของระบบเครือข่ายหรือส่งถ่ายข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์นั้น จะมีสื่อกลางทั้งในรูปแบบสายสัญญาณ และแบบไร้สาย ผ่านอุปกรณ์รับและส่งข้อมูล
  5. โปรโตโคล (Protocol) คือข้อตกลงหรือมาตรฐานในการส่งข้อมูลที่เป็นข้อตกลงร่วมกันที่ทำให้ผู้รับผู้ส่งเข้าใจข้อมูลที่ส่งถ่ายกันได้ ซึ่งตรงนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับการใช้การเข้ารหัส (encoding) เป็นการช่วยให้ผู้ส่งข่าวสารและผู้รับข่าวสารมีความเข้าใจตรงกัน และการถอดรหัส (decoding) หมายถึงการที่ผู้รับข่าวสารแปลงพลังงานจากสื่อกลางให้กลับไปอยู่ในรูปข่าวสารที่ส่งมาจากผู้ส่งข่าวสาร เช่น หากผู้ส่งใช้ภาษาไทยในการสื่อสารแต่ผู้รับไม่เข้าใจภาษาไทย แบบนี้แปลว่าโปรโตโคลไม่ตรงกัน การสื่อสารข้อมูล

บทความที่เกี่ยวข้อง